จากกรุงเทพฯ สู่สะหวันนะเขต เพื่อถ่ายทำวิดีโอแห่งความหวัง
DAY 1
อะไรรอเราอยู่ที่สะหวันนะเขต?
เราเพิ่งจะถามคำถามนี้กับตัวเองขณะแบกกระเป๋าเสื้อผ้าและหนึ่งในกระเป๋าอุปกรณ์ถ่ายทำลงบันไดชันริมฝั่งแม่น้ำโขง ณ ด่านผ่านแดนจังหวัดมุกดาหาร
กล้ามเนื้อที่ได้ออกแรงไม่บ่นว่าอะไรนัก เพราะส่วนหนึ่งมันอาจเริ่มชินกับการใช้แรงออกกำลังกายอยู่บ้างในระยะหลัง แต่อีกส่วนหนึ่งเจ้าของกล้ามเนื้ออย่างเราเดาว่ากระแสความตื่นเต้นและความสนุกจากบางสิ่งบางอย่างที่คาดการณ์ไม่ได้คงดังกว่าเสียงกร่นด่าการใช้แรงงานของกล้ามเนื้อ
เราตัดสินใจลงเรือเพื่อข้ามแดนแทนการนั่งรถ เนื่องจากเมื่อหาข้อมูลดูว่าถ้าเดินทางโดยรถประจำทาง ขณะที่ตัวเราลงไปดำเนินการผ่านแดนที่ด่านนั้น เราอาจต้องขนอุปกรณ์การถ่ายทำทั้งหลายลงมาด้วยเพราะไม่อยากให้บังเอิญสูญหาย อย่างที่ใครหลายคนเคยประสบ และการขนของขึ้นลงรถสาธารณะคับแคบนอกจากจะลำบากตัวเองแล้วคงเป็นที่น่ารำคาญของผู้อื่นไม่น้อย เรือข้ามแดนจึงเป็นตัวเลือกของพวกเรา
เรือดูหนักมากอยู่แล้วแม้ไม่มีพวกเราและกระเป๋าอุปกรณ์การถ่ายทำ เพราะข้าวของที่พี่น้องประเทศเพื่อนบ้านขนกลับไปจากประเทศไทยบรรทุกอยู่เต็มลำเรือ ทั้งบนหลังคา ท้ายลำ และในตัวลำเรือ พวกเราลงเรือได้ทันพอจะมีที่นั่ง และต่อให้ไม่มีที่นั่งเราก็ต้องยืนไปอยู่ดี
บรรยากาศบนเรือร้อนระอุด้วยไอร้อนจากแดดในตอนกลางวันรวมถึงความแออัดภายในตัวเรือ
หันหัวเรือออกจากฝั่งได้ไม่ถึงสามนาที...เรือเอียง
ลำเรือเอียงไปฝั่งหนึ่งอย่างที่คนนั่งอย่างเรารู้สึกได้ เสียงคนขับตะโกนก้องมาจากทางหัวเรือ บอกทุกคนให้ขยับมาทางซ้ายของลำเรือ ไม่ให้ไปกองทางขวา ไม่อย่างนั้นก็คงได้จอดสนิทนิ่งอยู่ตลิ่งฝั่งไทยนี่ล่ะ
ไร้ซึ่งความตื่นตระหนกใดเกิดขึ้น มีเพียงเสียงบอกกล่าวเป็นทอดๆ ให้คนอื่นๆพยายามยืนกลางลำเรือทอดมาทางฝั่งซ้าย เด็กหญิงที่นั่งอยู่ข้างหน้าเราก็เช่นกัน เธอหันมองซ้ายขวาก่อนแกะเม็ดบัวออกจากฝักบัวสดแล้วป้อนเข้าปากเหมือนว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติและเกิดขึ้นทุกวัน
เมื่อเปิดกระเป๋าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งลาวและเจ้าหน้าที่เห็นอุปกรณ์การถ่ายทำต่างๆ มากมาย พวกเขาก็ถามว่าจะมาถ่ายทำอะไรกัน ถามไปตอบมาเขาไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่กำชับเรื่องการใช้โดรนว่าหากมีการถ่ายทำด้วยกล้องโดรน จำเป็นต้องขออนุญาต
เจ้าหน้าที่ไม่ดุ ยิ้มเข้าไว้ ก็ผ่านด่านกันมาได้ไม่ยากเย็น แต่ที่ดูจะยากนิดๆ งงหน่อยน่าจะเป็นทางเดินไปที่พัก
อาคารเก่าสไตล์ยุโรปยืนหยัดผ่านกาลเวลามาตั้งแต่สมัยที่ลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ปรับปรุงตกแต่งให้เป็นเกสต์เฮาส์เล็กๆ ขนาด 3 ห้องนอน มีห้องน้ำ 2 ห้อง ซึ่งห้องหนึ่งเป็นห้องน้ำกลางแจ้งเปิดเพดาน อาบไปมองฟ้าไป และมีพื่นที่ส่วนกลางให้นั่งเล่น เจ้าของเป็นชายชาวฝรั่งเศสชื่อ นิโคลัส แต่งงานและอาศัยอยู่กับภรรยาชาวลาวที่นี่ เขาแวะมาเปิดบ้านให้และให้กุญแจไว้
เท่ากับว่าบ้านทั้งหลังนี้เป็นของเรา
พื้นที่ริมแม่น้ำโขงของสะหวันนะเขตมีบรรยากาศคล้ายหัวเมืองในชนบท ตึกรามบ้านช่องส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และอีกส่วนเป็นบ้านคล้ายบ้านไทยมีทั้งปลูกด้วยไม้และปูน เขตที่อยู่เป็นส่วนที่ติดแม่น้ำ เป็นศูนย์กลางการค้าขาย เป็นทางผ่านเดินทางสะดวก มีร้านค้าร้านอาหารมากมาย และเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว แม้จะไม่คึกคักเท่าริมฝั่งโขงที่เวียงจันทน์ แต่เรารู้สึกว่าที่นี่กำลังดี นาฬิกาเหมือนเดินช้าลงนิดแม้มีอะไรต้องทำมากมาย
วันนี้พวกเราต้องจัดการเรื่องการแลกเงินและสัญญาณโทรศัพท์มือถือซึ่งสะดวกสบายกว่าถ้าจะไปหาเอาข้างหน้า แผนการทำงานจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น ผู้ประสานงานจะมารับเราที่นี่ตั้งแต่เช้าเพื่อเดินทางไปยังสถานที่ถ่ายทำในอำเภอที่ลึกเข้าไปของสะหวันนะเขต
จุดหมายของการถ่ายทำอยู่ที่นั่น
DAY 2
รถมารับและพาเราตรงไปยังจุดหมาย บ้านก๊กบ๊ก อำเภอพะลานไซ อยู่ห่างจากริมฝั่งโขงประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
ถนนเชื่อมต่อจากริมโขงไปยังอ.พะลานไซค่อนข้างดี ผู้ประสานงานบอกเราว่าเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่มาจากไทย ผ่านลาว และเข้าสู่เวียดนาม ดังนั้นระหว่างทางนอกจากรถไถของชาวไร่ชาวนาเราจึงได้เห็นรถบัสคันใหญ่สวนมาบ้าง
แม้เส้นทางไปอ.พะลานไซจัดได้ว่าสะดวกสบาย แต่ผู้ประสานงานก็บอกให้เราเตรียมใจไว้สักนิด เพราะจากในตัวอ.พะลานไซเข้าสู่พื้นที่หมู่บ้านก๊กบ๊กที่ตั้งของโรงเรียนที่เราจะใช้ถ่ายทำนั้นทางยังเป็นดินแดงหลุมบ่อ รวมถึงไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้า
2 ชั่วโมงกว่ารถเราเข้าสู่ อ.พะลานไซ แต่เราใช้เวลาอีกเกือบ 30 นาทีเพื่อนั่งโขยกเขยกไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
ลานกว้างขนาดราวหนึ่งสนามฟุตบอลตรงหน้ามีสิ่งก่อสร้างเล็กๆ อยู่เพียง 3 จุด จุดแรกอยู่กลางเนินทรายลักษณะคล้ายกระท่อมไม้ขนาดราว 10 x 5 เมตร มีเสาธงไม้ไผ่พร้อมธงชาติลาวที่ยอดเสาตั้งอยู่เบื้องหน้า ส่วนอีกจุดตั้งอยู่ริมขวาเมื่อมองจากทางเข้า กระท่อมไม้มุงสังกะสียกพื้นสูงและมีหลังคาต่อเนื่องไปยังพื้นที่ส่วนเล็กๆ อีกส่วนหนึ่ง
กระท่อมไม้กลางลานนั้นเป็นห้องเรียน ส่วนอีกที่เป็นจุดเก็บเสบียง ครัว และโรงอาหาร
สิ่งก่อสร้างอีกจุดที่มองเห็นได้คือห้องน้ำเล็กๆ 2 ห้องเยื้องไปทางด้านหลังของห้องเรียน ส้วมหลุมทำไว้อย่างสะอาดสอ้าน ไม่ไกลกันมีคันโยกสำหรับดึงน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ซึ่งกลุ่มเด็กอายุราว 5-6 ขวบกำลังโหนคันโยกกระโดดตัวลอยทิ้งน้ำหนักลงเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้
ที่นี่, โรงเรียนการศึกษานอกระบบบ้านก๊กบ๊ก สถานที่หลักในการถ่ายทำของพวกเรา
บ้านก๊กบ๊กมีชาวบ้านอยู่ราว 45 หลังคาเรือน น้ำ-ไฟ ยังเข้าไม่ถึง และเด็กๆ ที่ศึกษานอกระบบอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มี 28 คน
เด็กๆ มองพวกเราด้วยความอยากรู้อยากเห็น ในขณะที่ครูสมใจ ครูชายผิวดำแดงออกมาต้อนรับพวกเรา
ความตั้งใจสำหรับวันนี้ของทีมงานคือลองเคสติ้งน้องๆ นักเรียนที่จะสามารถออกกล้องได้โดยไม่ขัดเขินเท่าไหร่นัก แต่ยังไม่ทันทำอะไรเจ้าหน้าที่จากการศึกษาส่วนกลางก็มาซะก่อน เราจึงตัดสินใจเริ่มต้นการถ่ายทำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางทันที
ไม่นานนัก แดดที่ว่าร้อนๆ อยู่เมื่อวานและช่วงเช้าของวันนี้เริ่มหดหาย เมฆสีคล้ำเคลื่อนตัวเข้ามาและฝนห่าใหญ่ก็เทลงมา เสียงฝนกระทบหลังคาสังกะสีทำให้เราไม่สามารถถ่ายทำต่อได้ ทุกอย่างจึงต้องหยุดไว้ชั่วคราว
พายุเข้า คือสิ่งที่ผู้ประสานงานบอกกับพวกเรา
แต่ดินฟ้าอากาศไม่ทำร้ายเรามากไปนัก เพียงไม่นานเราก็กลับมาถ่ายทำกันต่อได้ และในช่วงบ่ายหลังจากที่เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางกลับไปนั่นล่ะ เราถึงได้แคสติ้งน้องๆ ที่จะถ่ายทำในวันต่อไป ครูคัดเลือกน้องทั้งชาย-หญิงมาให้ประมาณ 7-8 คน เพื่อให้มาลองถ่ายดู และหลังจากนั้นก็วิ่งตามเก็บภาพอีกหลายช็อต
จนแสงสุดท้ายของวันก่อนกลับออกมา
ขาเข้าว่ายากแล้วด้วยเส้นทางที่เป็มหลุมเป็นบ่อ แต่กลางวันยังมีแสงมองเห็น แต่พอแสงสุดท้ายหมดไปพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้ามันมืดจริงๆ แสงนำทางของพวกเรามีเพียงไฟหน้ารถแหวกความมืด
ถึงจะรู้มาก่อนหน้าว่าที่ที่เราจะเข้าไปถ่ายทำไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า แต่เพราะเราเป็นคนเมืองมาตลอดชีวิต ต่อให้เคยเข้าป่าไปตั้งแคมป์แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เผชิญหน้ากับความมืดระดับที่หากปิดไฟก็มองไม่เห็นอะไรเลยในพื้นที่โล่งกว้างขนาดนี้
อุ่นใจอยู่บ้างที่ในความมืดไม่ได้อยู่คนเดียว
DAY 3
ตีสามคือเวลาที่ตื่น
พวกเราตั้งใจเข้าไปเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่โรงเรียน
การขับรถบนเส้นทางไร้ไฟฟ้าตอนตีสี่ก็ไม่ต่างจากตอนหัวค่ำสักเท่าไหร่ เพราะมองไม่เห็นทางอะไรเลย
แต่สำหรับเรามองไม่เห็นจริงๆ นั่นล่ะ ต่อให้รถตกหลุมแค่ไหนเราก็หลับ หลับจริงๆ ตื่นอีกทีก็มาถึงโรงเรียนแล้ว
ท้องฟ้าก่อนพระอาทิตย์จะออกมาทักทายเป็นสีชมพูอมฟ้า สีแปลกตาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
เข้าวันที่สองดูน้องๆ ในโรงเรียนเริ่มคุ้นชินกับพวกเรามากขึ้น เช่นเดียวกับพวกเราที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้คำศัพท์แบบภาษาลาวบางคำเพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น
เมื่อเรามีบางอย่างคล้ายกันเราก็จะพูดคุยกันง่ายขึ้น
วันที่สองเราเริ่มสังเกตุเห็นหลายสิ่งหลายอย่าง เล็กๆ น้อยๆ ที่เด็กๆ ที่นี่มี
ดำดี, เด็กหญิงผิวคล้ำตาหวานยิ้มสวยใส่เสื้อนักเขียนปักชื่อ ‘เด็กชายกันต์’ จากประเทศไทย
เด็กชายวัย 7 ขวบ สะพายกระเป๋าเป้สีชมพูดรูปตุ๊กตาเด็กผู้หญิงตาโตมีขาและยัดนุ่น
พี่น้องสองคนใช้กระเป๋าสะพายข้างยี่ห้อหลุยส์วิคตองของแท้ขาดๆ ของแท้ที่มีร่องรอยการซ่อมแซมอยู่ทั่วใบ สายหนังขาดจากตัวกระเป๋าเย็บไว้ด้วยด้ายหลายสีหลายเส้น หัวซิปแตกถูกแทนที่ด้วยเชือกเส้นเล็ก ฝาเปิดกระเป๋าหนังลอกเป็นชิ้นๆ รอยปุขาดเป็นจุดอยู่ทั่วใบ
แต่มันใช้ได้...ยังใช้ได้
เด็กๆ ที่นี่เรียกเสื้อนักเรียนว่า “เสื้อขาว” เรียกตามสีเสื้ออย่างง่ายๆ เสื้ออะไรก็ได้ที่เป็นเสื้อขาว พวกเขาใส่มันมาโรงเรียนได้ทั้งนั้น
เด็กผู้ชายใช้กระเป๋าสีชมพูได้อย่างไม่อายใคร
เด็กผู้หญิงใส่เสื้อปักชื่อเด็กผู้ชายที่เธอไม่รู้จัก
ไม่มีสีแบ่งแยกเด็กผู้หญิงหรือผู้ชาย
ความชอบไม่ใช่เรื่องหลัก ขอให้ใช้งานได้
ของเหล่านั้นเป็นของของพวกเขาอย่างแท้จริง
เด็กๆ ที่นี่เข้าเรียนกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 11.30 จากนั้นจะพักกินข้าวและกลับบ้าน ก่อนกลับมาเรียนอีกทีตอนบ่ายโมงครึ่งถึงสี่โมงเย็น
อาหารเที่ยงของนักเรียนสับเปลี่ยนกันไปตามตารางวัน วันที่เราไปถ่ายทำมื้อเที่ยงของน้องๆ คือผัดผักบุ้งบนข้าวจานพูน ครูคนเดียวของโรงเรียนใช้เหล็กตีวงล้อที่ห้อยอยู่เรียกให้ทุกคนมาที่โรงอาหาร
หลังมื้ออาหารเด็กๆ ส่วนใหญ่เดินเท้าบ้างปั่นจักรยานบ้างกลับบ้าน และพวกเขาก็กลับมาก่อนเวลา
เด็กผู้ชายใช้ลูกวอลเล่ย์บอลเก่าถูกเตะแทนลูกบอล เด็กผู้หญิงเล่นวิ่งไล่จับกัน
ความสุขของพวกเขาไม่ต้องมีไฟฟ้า ของเล่นราคาแพง อินเตอร์เน็ต
ทุกอย่างง่ายแค่นี้เอง
กิจวัตรของเด็กๆ ที่นี่เกือบทุกคนดูคล้ายกัน
ตื่นเช้าช่วยงานที่บ้าน ล้างจาน ให้อาหารไก่,หมู ตักน้ำ เดินมาเรียน กลับบ้านตอนเที่ยง กลับมาเรียนอีกที ตกเย็นก็กลับไปช่วยงานบ้าน ทอผ้า ตามวัวกลับคอก ทำไร่ทำนา และอื่นๆ
ระหว่างถ่ายทำเรามีโอกาสได้จับมือน้องๆ บ้าง แต่สัมผัสจากมือน้องพาหัวใจเราวูบแปลกๆ
เราจับมือเด็กๆ มาก็มาก แต่เด็กที่นี่, เด็กตัวเล็กอายุเพียง 7 ขวบ มีมือที่หยาบกร้านที่สุดเท่าที่เราเคยได้สัมผัสมา
จากงานการที่ทำ จากวิถีชีวิตที่พวกเขาต้องดำเนิน มันไม่แปลก เพื่อนบอกเราแบบนั้น
ใช่, เราลืมไป ต่างคนต่างชีวิต
เราเพียงแค่คิดถึงตัวเองตอน 7 ขวบในเมืองใหญ่ เทียบกับเด็กๆ ที่นี่เท่านั้นเอง
DAY 4
อากาศแตะ 45 องศาเซลเซียสในเช้าวันสุดท้ายของการถ่ายทำ และอะไรสักอย่างทำให้ผู้กำกับคิดปีนขึ้นไปถ่ายบนกระโปรงรถ
เราถามย้ำแล้วนะว่าจำเป็นมั้ย คำตอบคือเก็บภาพไว้ก่อน
ตามใจ
ร้อนแค่ไหนไม่ได้รู้สึกเอง แต่แค่เห็นก็ร้อนแทน
การถ่ายทำในช่วงเช้าวันสุดท้ายค่อนข้างเป็นไปอย่างราบรื่น เก็บบางอย่างที่คิดว่าต้องใช้ครบและเดินทางกลับมายังอำเภอติดแม่น้ำโขงเพื่อข้ามเรือกลับไทย
ก่อนกลับเราบอกลาน้องๆ ที่บ้านก๊กบ๊ก เด็กๆ โบกมือลาเราพร้อมรอยยิ้ม
เราอาจเป็นเพียงคนที่ผ่านมาและผ่านไปสำหรับพวกเขา พวกเขายังดำเนินชีวิตของพวกเขาอยู่ที่นั่นเหมือนก่อนเราจะมาพบกัน
เราไม่กล้าพูดว่า ‘ไว้เจอกันอีกนะ’
เราได้แต่บอกให้พวกเขาตั้งใจเรียนและโชคดี
DAY 5
จากบนเรือข้ามฝากกลับมาฝั่งไทย เรามองย้อนกลับไปที่ตลิ่งฝั่งลาว สะหวันนะเขตห่างออกมา
เราไม่รู้ว่าเด็กๆ ที่เราไปถ่ายทำจะเป็นอย่างไรบ้างต่อจากนี้ สิ่งที่พวกเขาบอกว่าอยากทำอยากเป็นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
หากวันหนึ่งเราได้พบกันอีกครั้งคงได้ถามไถ่
แต่หากไม่ได้พบกันอีก อย่างน้อยที่สุดเราได้ทิ้งร่องรอยของกันและกันไว้ในความทรงจำ
เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ
(Project Creative Assistant)